หนึ่งในวิธีที่น่าสนใจไม่น้อย ในยุคที่อะไรๆ ก็แพงแบบนี้ ก็คือ DIY .. ทำ content เอง ทำวิดิโอเอง ทำเพจเอง .. ทำเว็บไซต์เอง!
ทำเว็บไซต์เอง จริงๆ แล้วไม่ได้มีความยากเลยครับ ที่กล้าพูดนี่เพราะว่าทำให้ลูกค้ามาแล้วเป็นร้อยๆ เว็บ นอกจากนี้ยัง เปิดคอร์สสอนทำเว็บ แบบไม่เขียนโค้ด มาสักพักใหญ่แล้ว นักเรียนทุกคนก็ทำเป็นกันหมด แถมแทบไม่ค่อยมีใครถามคำถามอะไรนอกจากจะติดปัญหาจริงๆ เพราะระบบที่ผมสอนให้ใช้มันก็ใช้ง่ายมากๆ (intuitive) ในหลายๆ จังหวะนี่ เราใช้เป็นเองโดยที่แทบจะไม่ต้องอ่านคู่มือเลยด้วยซ้ำ 🙂
ก่อนจะเข้าเรื่องไปยังวิธีทำเว็บไซต์ที่ผมแนะนำ เรามาดูกันก่อนดีกว่า ว่าจริงๆ แล้ว การทำเว็บไซต์ขึ้นมานั้น มันมีกี่วิธี? มีอะไรบ้าง? ที่เขาทำกันในตลาดทั่วๆ ไป ครับ
- เว็บไซต์สำเร็จรูป รายเดือน/รายปี
- จ้างคนอื่นทำ
- ทำเอง
มาดูกันนะครับ ว่าแต่ละวิธี มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง
[1] เว็บไซต์สำเร็จรูป รายเดือน/รายปี
ธุรกิจนี้เรียกได้ว่ารุ่งเรืองมาก จากการเก็บค่ากินจาก ธุรกิจขนาด SME (เล็ก-กลาง) ในรูปแบบที่เจ้าของธุรกิจ “พอจะ” มีเวลาทำเว็บไซต์เอง หรืออยากได้ control ในลักษณะที่ให้ลูกน้องในบริษัท/องค์กรของตนเอง ดูแลเว็บไซต์ให้
ข้อดีของการใช้ เว็บไซต์สำเร็จรูป ก็คือ
- ส่วนมากแล้วจะใช้ง่าย แทบไม่ต้องอ่านคู่มืออะไรก็ทำเป็นเลย
- อยากแก้ไขอะไรก็แก้เองได้ทันที ไม่ต้องให้คนอื่นทำให้
ข้อเสียของการใช้ เว็บไซต์สำเร็จรูป ก็คือ
- Design ที่ถูก fix มาแล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ แบบนั้น ปรับแต่งตามใจเองแทบไม่ได้ (ยกเว้น platform ที่ใหญ่จริงๆ เช่น Wix หรือ Shopify แต่นั่นก็แพงอีก)
- ต้องจ่ายเรื่อยๆ ไม่มีหยุด และส่วนมากแล้ว แพง และ ไม่ได้สเปคของ server ที่คุ้มเท่าที่ควร
- มีข้อจำกัดในการเติบโต หรือลง features / plugin เพิ่ม เนื่องจากเป็นระบบปิด จะทำอะไรเพิ่ม developer ฝั่งเขาก็ต้องเขียนเพิ่ม ก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายของเขาทั้งนั้น ที่ต้องมาเก็บกำไรต่อจากเราอีกทีนึง
ถ้าอยากจะดู review ลึกๆ เกี่ยวกับ เว็บไซต์สำเร็จรูปขนาดยักษ์สองเจ้านั้นแล้วล่ะก็ ผมเขียนบทความแบบละเอียดเอาไว้ที่นี่แล้วครับ:
WIX ดีไหม? รีวิว WIX ตรงๆ จากอาจารย์สอนทำเว็บ
Shopify ดีไหม? รีวิวจากอาจารย์สอนทำเว็บ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจเว็บไซต์สำเร็จรูปนั้น เป็นอะไรที่หอมหวานน่าทำมากๆ เรียกได้ว่า เขียนระบบขึ้นมาทีเดียว เก็บเงินกับลูกค้าได้ยาวๆ … ธุรกิจประเภทนี้ คือธุรกิจที่ serve ความง่ายให้กับลูกค้าที่กำลังมองหาเว็บไซต์แบบประหยัด ซึ่งนั่นก็หมายถึงเกือบทุกคนนั่นแหละ มีใครไม่อยากได้ของถูกแล้วดีบ้าง จริงไหม?
แต่ก็ต้องยอมรับว่า เนื่องด้วย know-how ของ การทำเว็บไซต์นี้ ค่อนข้างต้องใช้เวลาคุ้ยนานพอสมควร ถึงจะพอรู้ว่า จริงๆ แล้ว มันมีวิธีที่ง่ายกว่า ดีกว่า และถูกกว่าเว็บสำเร็จรูปตั้งเยอะ
อ่านไปเรื่อยๆ นะครับ เดี๋ยวผมจะบอก 😉
[2] จ้างทำ
วิธีนี้ จะว่าดีก็ดี จะว่าไม่ดีก็ไม่ดี … มันอยู่ที่ดวงซะส่วนใหญ่!
การว่าจ้างทำงานนั้น ว่ากันตรงๆ ก็คือ การจ่ายเงินเพื่อให้คนอื่นทำให้ หมายความว่า คุณภาพงาน ก็ขึนอยู่กับฝีไม้ลายมือ ของคนที่คุณว่าจ้างมานั่นเอง
ซึ่งนั่นก็ … หลายๆ ครั้งก็คาดเดาไม่ได้ ว่าคุณจะได้มือดีหรือมือไม่ดี มาขึ้นงานเว็บไซต์ให้องค์กรของคุณ
เคสที่ผมเจอบ่อยที่สุดก็คือ จ้างทำด้วยราคาที่ถูกมากๆ คิดว่าจะประหยัดสักหน่อย สุดท้าย .. งานไม่เสร็จ ทิ้งงานซะงั้น เคสแบบนี้คือปัญหา 80% ที่ผมเจอ เวลาลูกค้ามาบ่นกับผม
ดีขึ้นมาหน่อย ก็คือ จ้างทำแบบขอชัวร์ๆ เลย ขอแบบดีๆ เลย ไม่ทิ้งงานแน่นอน ซึ่งก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายแสนแพง เพราะอยากได้ของดีก็ต้องจ่ายเยอะหน่อย จริงมั้ยครับ?
หรือหนักที่สุด … จ่ายก็แพง แถมงานก็ไม่เสร็จ หรือเสร็จ แต่ห่วยแตก … ทำเป็นเล่น ผมเจอมาไม่น้อยนะครับ
(นักเรียนคนล่าสุดผม จ้างทำ Mobile Application ราคาหลักล้าน .. แต่งานไม่เสร็จ เร่งยังไงก็ไม่เสร็จ ลองคิดถึงความเจ็บปวดนั่นดู 55)
ข้อดีของการจ้างทำเว็บไซต์:
- ไม่ต้องทำเอง จ่ายตังค์อย่างเดียว.. สบาย (หรือไม่สบาย? จ่ายตังค์มันก็เจ็บปวดนะ 55 )
- นึกออกแค่นี้อะ
ข้อเสียของการจ้างทำเว็บไซต์:
- ราคาแกว่ง และ โอกาสสำเร็จคาดเดาไม่ได้ เอาจริงๆ ผมว่า จ้างทำเว็บไซต์นี่ ลุ้นว่า project จะพังไม่พัง สูงกว่าจ้างสร้างบ้านอีกนะ
- Control น้อยกว่าทำเอง แปลว่า อยากแก้ไขอะไร ก็ต้องบอกให้เขาแก้ เราแก้เองไม่ค่อยได้ (ถ้าเขามีระบบหลังบ้านให้ก็สบายไป แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ไขได้ทุกอย่างนะ) แล้ว developer ส่วนมาก งานยุ่งนะครับ ต่อให้คนที่มีความรับผิดชอบสูงส่งก็ตาม คุณก็ต้องเข้าคิวรออยู่ดี เพราะ project พวกนี้เยอะ อิอิ
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากจารย์ไปป์: ถ้าเว็บไซต์ของคุณ ไม่ใช่แค่เว็บเล็กๆ ที่แสดงประวัติบริษัท ซื้อของออนไลน์แล้วจบๆ ไป แต่มี feature พิเศษบางอย่าง เป็น core business (ตัวดำเนินการหลักของธุรกิจ) ยกตัวอย่าง เช่น อยากทำระบบจองโรงแรม อยากทำระบบจองคิวร้านนู่นนี่ ฯลฯ
กรณีแบบนี้ เราเขียนระบบเองไม่ได้อยู่แล้ว ก็ต้องจ้างทำอยู่ดี แต่ !! ที่ผมอยากแนะนำคือ อยากแนะนำให้จ้างพนักงานเป็น in-house ครับ หมายถึงจ้างพนักงานประจำไว้ในบริษัทเลยนั่นเอง เพราะงานพวกนี้แก้รายวันครับ จ้าง outsource มันไม่ทันใจหรอก แถม มีบทพิสูจน์อยู่ทั่วไปว่า จ้างพนักงาน developer ไว้ในบริษัทเนี่ย โอกาสงานสำเร็จเนี่ยเยอะที่สุดแล้วครับ 🙂 ไม่ต้องห่วงค่าใช้จ่ายระยะยาวหรอก ถ้าเกิดว่า web/app ที่คุณกำลังจะทำนั่นมันเป็น core business สุดท้ายยังไงคุณก็ต้องจ้าง in-house developer อยู่ดีนั่นแหละ!
[3] ทำเว็บไซต์เอง !!
และแล้วก็มาถึงหัวข้อพระเอกของเรา ทาด๊าาาาาาาาา
Just to be clear … การ ” ทำเว็บไซต์เอง ” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการใช้เว็บสำเร็จรูปด้วยนะครับ เพราะมันจะกลายเป็นข้อ 1 ด้านบนไป
มันคือการทำเว็บเองทั้งหมด ขึ้นระบบ แบบเดียวกับที่ developer เขาทำให้คุณ เวลาที่คุณไปจ้างเขาทำนั่นแหละ
แน่นอน คำถามอันดับแรกๆ ที่จะแล่นเข้ามาในหัวคือ
” นั่นมันไม่ยากเหรอ? “
” มันต้องเขียนโค้ดนี่? “
” กว่าจะทำเป็น ศึกษาอีกนานอะ จ้างทำดีกว่ามั้ย จะได้จบๆ ไป “
ซึ่งมันเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะ know-how ในการทำเว็บไซต์ขึ้นมาเองทั้งหมดแบบ 100% นั้น จริงๆ แล้ว มันไม่ได้ยากขนาดนั้นเลย
ถ้าให้เปรียบเทียบว่ามันง่ายขนาดไหน … ผมชอบเปรียบเทียบว่า ง่ายประมาณ เรียนที่จะทำข้าวกระเพราหมูไข่ดาวอร่อยๆ สักจาก (คือ ข้าวไข่เจียวมันง่ายเกิน เดี๋ยวจะหาว่าผมเปรียบเทียบเว่อร์ไป)
หรือ ง่ายประมาณหัดล้างรถเอง หัดล้างแอร์เอง … หรืออะไรประมาณนั้นน่ะครับ
ซึ่งเอาจริงๆ แล้ว แค่รู้ know-how อะไรบางอย่าง แล้วลองทำ 2-3 ชั่วโมง มันก็เป็นแล้วอะ!
คำถาม: แล้วมันไม่ต้องเขียนโค้ดเหรอ?
คำตอบ: ไม่ต้องครับ ขออนุญาตแนะนำให้รู้จักกับ WordPress และ Elementor
WordPress นี่มีมานานเป็น สิบๆ ปีแล้วครับ จุดประสงค์ตอนแรกสุดที่ออกมาคือ อยากให้เป็นระบบสำหรับทำ Blog ที่ใช้ง่าย แค่ install แล้วกด nextๆๆ ก็ใช้ได้เลย อารมณ์เหมือนลงโปรแกรมในคอมอย่างงั้นน่ะ ไม่ต้องเขียนโค้ดอะไรแต่อย่างใด
แต่ด้วยความที่ WordPress มันศักดิ์สิทธิ์และดังมาก Developer ทั่วโลก ก็เลยเริ่มที่เขียนนู่นมาต่อ เขียนนี่มาต่อ เป็นแขนเป็นขา งอกเงยออกมา จนตอนนี้ WordPress นี่มีของเล่น ให้เล่นเต็มไปหมด ที่เรียกว่า plugin
Plugin นี่มันโหดขนาดไหนกัน?
- โหดขนาดที่ว่า มันแปลงให้ WordPress ขายของออนไลน์ได้
- แปลงให้ WordPress ทำระบบจองโรงแรมได้ จัดคิวได้
- แปลงให้ WordPress ทำเป็นระบบ ซื้อ-ขาย อสังหาริมทรัพย์ ได้!
- แปลงให้ WordPress ทำเป็นเว็บไซต์ Dropship แบบสั่งซื้อกับ supplier แบบออโต้ได้!!
- ทำเว็บบอร์ดได้
- ทำ Pinterest ทั้งเว็บได้ คิดดู
- ฯลฯ
ที่สำคัญคือ ทั้งหมดที่ผมพิมพ์ด้านบน ทุกอย่างแทบจะเสร็จภายในวันเดียวได้เลยด้วยซ้ำ!
(ย้ำว่า แค่ระบบนะ ที่เขาทำกันเป็น สัปดาห์ๆ หรือ เดือนๆ นั่น ส่วนมากจะเป็นเรื่อง design ครับ)
และแน่นอน ตอนแรก WordPress มันก็ทำเว็บแบบ ลาก-วาง เหมือนต่อ LEGO ไม่ได้หรอก แต่ไม่เป็นไร นั่นก็คือ หน้าที่ของ Plugin ที่ชื่อว่า Elementor ยังไงล่ะ
ทันทีที่คุณกด install Elementor ลงไปใน WordPress คุณก็พร้อมจะทำเว็บแบบ ลากๆ วางๆ ทันที ความใช้ง่ายเทียบเท่ากับการต่อ LEGO เลยทีเดียว!
สิ่งที่คุณต้องทำ ไม่มีอะไรไปมากกว่าการ จด Domain … เช่า Hosting .. ติดตั้ง WordPress + Elementor ตู้ม.. จบ คุณได้เว็บไซต์แล้ว!
มันง่ายขนาดนั้นจริงๆ ผมไม่ได้โม้
โพสต์นี้ ถือว่ามาให้ความรู้แบบน้ำจิ้มก่อนก็แล้วกัน เดี๋ยวผมนึกอะไรออกอีก ที่เป็นประโยชน์กับท่านๆ จะรีบมาบอกกล่าวนะครับ 🙂